หากพูดถึง ประเพณีลอยกระทง คนไทยทั่วทุกภาคจะรู้จักกันดี แต่หากพูดถึง งานลอยกระทงหรือ ประเพณีเดือนยี่เป็ง แบบล้านนา (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน) จะค่อนข้างมีความแปลกตาออกไป ซึ่งจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
ประวัติ ประเพณีลอยกระทง แบบล้านนาหรือยี่เป็ง
คำว่า ยี่เป็ง มาจากคำสองคำมารวมกันคือคำว่า ยี่ หมายถึงเดือนที่สอง ซึ่งตามปฏิทินล้านนาก็คือ เดือนพฤศจิกายน ส่วนคำว่าเป็งหมายถึง พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ โดยประเพณีนี้จะจัดงานเป็นเวลา 3 วัน
วันขึ้น 13 ค่ำ จะถือเป็น วันดา คือวันที่จัดเตรียมข้าวของต่าง ๆ สำหรับการไปทำบุญ
วันขึ้น 14 ค่ำ คือวันที่นำของต่าง ๆ ไปทำบุญที่วัด ถือศีล สวดมนต์ ฟังธรรม และมีกิจกรรม ปล่อยโคม ทำกระทงใหญ่ นำของกินมาใส่กระทง เพื่อเป็นการทำทานให้แก่คนยากจน
วันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการนำกระทงใหญ่ที่ทำขึ้นมา (ปัจจุบันมาการแข่งขันความสวยงาม) และกระทงของตัวเองไปลอยในแม่น้ำ
มาทำความรู้จักโคม ประเพณีลอยกระทง ล้านนา
โคมลอย ที่เราเรียกกันจนติดปากทางล้านนาจะเรียกว่า “โกม” หรือว่า “ว่าว” โดยคำว่าว่าว หมายถึง อุปกรณ์เครื่องเล่นที่ทำมาจากระดาษ แล้วปล่อยไปตามสายลมเหมือนบอลลูน โดยจะมีอยู่ 2 แบบ
- ว่าวฮม หรือ ว่าวควัน โดยปกติจะเป็นโคมขนาดใหญ่นิยมจุดกลางวันโดยใช้วิธีรมควันอัดเข้าไปแล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า มักนิยมสายประทัดติดที่หางว่าว
- ว่าวไฟใช้หลักการเดียวกันกับ ว่าวฮม แต่มีขนาดเล็กกว่า จะจุดในกลางคืน โดยใช้จากจุดไฟใต้โคมแล้วให้ควันดันตัวโคมขึ้นสู่ท้องฟ้าดูสว่างสวยงาม ในสมัยโบราณลูกไฟที่ติดอยู่จะใช้ ขี้ย้าหล่อเป็นแท่ง แต่ปัจจุบันจะใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียน ซึ่งในภาษากลางเรียกว่า “โคมไฟ”
อะไรคือล่องสะเปาใน ประเพณีลอยกระทง ล้านนา
สะเปา หรือ ไหลเรือสำเภา ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางในยุคหลัง โดยชาวบ้านจะช่วยกันสร้างสะเปาแล้วนำไปใส่แพไม้ไผ่ พร้อมกับของใช้ต่าง ๆ และนำสะตวง (สะตวงคือสิ่งทำพิธีกรรมของชาวล้านนา) ใส่ลงไปด้วย แล้วจึงหามไปลอยที่แม่น้ำ เมื่อไหลไปสักพักก็จะมีคนยากไร้มาดักเก็บ ซึ่งก็ถือว่าเอาของต่าง ๆ มาบริจาคนั่นเอง
ถึงแม้ ประเพณีลอยกระทง แบบล้านนา หรือยี่เป็งจะมีความแตกต่างไปบ้างแต่ก็ถือว่าอยู่บนฐานความเชื่อเดียวกันกับการลอยกระทงในภาคอื่น ๆ คือเป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอขมาพระแม่คงคา รวมไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การปล่อยเคราะห์ตามความเชื่อของชาวล้านนาด้วย