พฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น ที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ

การที่เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอาจทำให้ผู้ปกครองเป็นกังวลใจ เพราะเด็กจะไม่มีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ขาดการจดจ่อในสิ่งที่ทำ และอาจมีพฤติกรรมซนกว่าเด็กปกติทั่วไป

โรคสมาธิสั้น คืออะไร?

โรคสมาธิสั้น คือ ความบกพร่องของระบบประสาทพัฒนาการ โดยจะอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ผลิตสารเคมีที่สำคัญบางชนิด ที่มีหน้าที่ในการควบคุมสมาธิ การควบคุมตัวเอง และการจดจ่อ สำหรับโรคสมาธิสั้นสามารถที่จะเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สำหรับช่วงอายุของเด็กที่มักจะพบภาวะสมาธิสั้นคือ 3-12 ปี และจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยอาการเด่นของโรคสมาธิสั้นในเด็กผู้ชายคือ ขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง ส่วนในเด็กผู้หญิงจะเป็นการขาดสมาธิในสิ่งที่ทำ หากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก การเข้าสังคม พฤติกรรม การแสดงออกทางอารมณ์ ทำให้กระทบต่อคุณภาพชีวิต

พฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น มีดังนี้

  • ไม่จดจ่อกับงานที่ทำ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำกิจกรรมหรือทำงานที่โรงเรียนได้ไม่รอบคอบ
  • ไม่สามารถจัดลำดับในการทำงาน หรือจัดลำดับการทำกิจกรรม
  • ดูเหมือนว่าไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนเอง
  • มักที่จะหลีกเลี่ยงงานที่ไม่ชอบ หรืองานที่ต้องใช้สมาธิในการทำอย่างต่อเนื่อง
  • ทำตามที่สั่งได้ไม่ครบ ส่งผลให้งานที่ทำในห้องเรียน หรืองานบ้านไม่แล้วเสร็จ
  • เปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่ทำอยู่ไปสู่สิ่งอื่นได้โดยง่าย
  • หลงลืมสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง เช่น ปากกา หนังสือเรียน โทรศัพท์ กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น
  • อยู่ไม่นิ่ง มักที่จะหยิบจับสิ่งของที่ตนเองสนใจเล่นไปมา
  • ขาดความยับยั้งชั่งใจ วู่วาม ใจร้อน ไม่ระวังในการทำสิ่งต่าง
  • ชอบพูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นพูดอยู่
  • ขณะเรียนมักชวนเพื่อนคุย พูดไปเรื่อย ชอบส่งเสียงดัง
  • เอาแต่ใจ มีความก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง
  • อดทนรอคอยนานๆไม่ได้

การรักษาโรคสมาธิสั้น

รักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาเพิ่มสมาธิ เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น ยา Methylphenidate เป็นยาที่กระตุ้นสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทมากขึ้น

ปรับพฤติกรรม

  • ตั้งกฎกติกา หากเด็กทำการบ้านเสร็จค่อยอนุญาตให้ไปเล่นได้ หรือให้พักดูการ์ตูนที่ชอบได้
  • จัดสถานที่ให้มีความเหมาะสม ที่ห้องเรียนควรที่จะให้เด็กที่มีสมาธิสั้นได้นั่งแถวหน้า หรือให้นั่งใกล้ครู ขณะที่เด็กทำการบ้านให้ปิดโทรทัศน์ สถานที่ทำการบ้านของเด็กควรมีความสงบ
  • การชมเชยหรือให้รางวัล หากเด็กทำงานสำเร็จก็ควรที่จะให้คำชมเชยหรือให้รางวัล เพื่อให้เด็กมีกำลังใจและอยากที่จะทำความสำเร็จอีก
  • แบ่งขั้นตอนการทำงาน ควรแบ่งการทำงานออกเป็นข้อย่อยๆ เช่น หากการบ้านมี 50 ข้อ ก็ให้เด็กทำแค่ 25 ข้อก่อน แล้วให้เด็กพัก จากนั้นก็ให้มาทำต่ออีก 25 ข้อ
  • ให้สัญญาณเตือน หากเด็กขาดสมาธิ อาจให้สัญญาณเตือนโดยการเรียกชื่อ หรือเตือนให้เด็กกลับมามีสมาธิในการทำงาน และอย่าใช้อารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดในการเตือนเด็ก

สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น จะต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มสมาธิให้แก่เด็ก ให้เด็กสามารถที่จะทำกิจกรรม หรือทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ