ภาวะสติแตกในวัยรุ่น หรือ Nervous Breakdown เกิดจากการที่เด็กต้องเผชิญกับความเครียด หรือความวิตกกังวลที่สูงจนควบคุมตัวเองไม่ได้ จนบางครั้งระเบิดอารมณ์ออกมา โดยสาเหตุอาการสติแตกนั้นไม่สามารถระบุแบบเฉพาะเจาะจงได้ แต่หลัก ๆ ก็คือมีการสะสมความเครียดความวิตกกังวลเป็นเวลานาน โดยไม่ยอมจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม หากมีอะไรมากระตุ้นมักจะระเบิดอารมณ์ได้ง่าย หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะกลายโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้เช่นกัน
สาเหตุที่จะทำให้เกิดระเบิดอารมณ์ หรือ ภาวะสติแตกในวัยรุ่น
สิ่งที่จะไปกระตุ้นให้วัยรุ่นระเบิดอารมณ์ออกมาก็มีได้หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ความเศร้าที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน ชีวิตเปลี่ยนแปลงเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว มีความเครียดสะสม เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ รวมไปถึงการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
สาเหตุอื่น ๆ ที่คาดว่าทำให้เกิด ภาวะสติแตกในวัยรุ่น
ในวัยรุ่นนอกจากการสะสมความเครียด หรือความกังวลยังมีเรื่องของฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจึงเสี่ยงที่จะให้เกิดความเครียดได้ง่ายขึ้นไปอีกซึ่งก็มีสาเหตุที่อาจคาดไม่ถึงเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ – อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากเด็กวัยรุ่นไม่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมืออารมณ์ที่ดีพอ ก็จะทำให้สติแตกได้ง่าย
ความรู้สึกผิดต่อเนื่อง – การที่เด็กถูกพ่อแม่หรือครูทำโทษ ถูกดุด่าซ้ำ ๆ พูดถึงข้อผิดพลาดย้ำๆ เป็นประจำจะทำให้กลายเป็นความรู้สึกผิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขารู้สึกว่าเขาสมควรที่จะได้รับบทเรียนเช่นนี้ จนสุดท้ายก็ก้าวผ่านไม่ได้จนระเบิดอารมณ์ออกมา
โรคทางจิตเวช – ไม่ว่าจะเป็น ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ก็เป็นสาเหตุทำให้สติแตกได้ ซึ่งสัญญาณของโรคซึมเศร้าที่สังเกตได้ เช่น มีความภูมิใจในตนเองต่ำ หวาดระแวง รู้สึกว่าตนเองไร้ประโยชน์ เป็นต้น
ก่อน วัยรุ่นสติแตก มีสัญญาณเตือนอย่างไร
- ขาดสมาธิ มักจะหลงลืมได้ง่าย เรียนไม่รู้เรื่อง จดจ่อกับสิ่งที่ทำไม่ได้นานหรือมีความจำสั้น
- มักจะนอนไม่หลับ ส่งผลทำให้อ่อนเพลีย จนใช้ชีวิตประจำได้ไม่มีประสิทธิภาพ
- รู้สึกเบื่ออาหาร หรือกินมากขึ้น
- มีอาการเครียดเรื้อรังจนทำให้มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เช่น ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย
- หากระดับความเครียดสูงขึ้น อาจทำให้เห็นภาพหลอน หูแว่ว จนมีอาการหวาดวิตก
ดังนั้นหากพ่อแม่พบว่าลูกมีความเสี่ยงต่อ ภาวะสติแตกในวัยรุ่น ก็ควรเริ่มจากสอบถามความเป็นไปในชีวิตลองเปิดใจพูดคุยโดยเป็นเป็นผู้ฟังที่ดี ปล่อยให้ลูกได้ระบายบ้างแต่หากดูแล้วว่ายากจะรับมือควรพาลูกพบจิตแพทย์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด