ไขข้อสงสัย เชื้อไวรัสต่างกับเชื้อแบคทีเรียอย่างไร

หลังจากที่โควิท-19 ระบาด ทำให้หลายๆคนหันมาสนใจเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วเคยสงสัยไหมว่า “แบคทีเรีย” และ “ไวรัส” มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

ความแตกต่างไวรัสกับแบคทีเรีย 

1.ทางกายภาพ 

ไวรัส : คืออนุภาคชนิดหนึ่งมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยมีขนาดอยู่ในช่วงระหว่าง 20-300 นาโนเมตร มีโครงสร้างและส่วนประกอบ คือ ส่วนแกนกลาง (Core), โปรตีน และเปลือกหุ้ม (Envelope)  

แบคทีเรีย : คือจุลชีพเซลล์เดียวมีส่วนประกอบคล้ายเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นแต่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส  มีขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมครอนไปจนถึงขนาด 750 ไมครอน ส่วนประกอบหลักๆคือ ผนังเซลล์, เยื่อหุ้มเซลล์ และไซโทพลาซึม  

2.ผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ 

ไวรัส :เป็นปรสิตสำหรับเซลล์มนุษย์ ไวรัสจะอยู่ได้ต้องเกาะติดกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆแล้วเข้าไปเติบโตในเซลล์และแบ่งตัวออกมาเมื่อเติบโตเต็มที่ ไวรัสจะบังคับให้เซลล์สร้างโปรตีนที่เป็นประโยชน์กับไวรัสเท่านั้น และเซลล์นั้นก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายจนตายไปในที่สุด แล้วไวรัสก็จะไปจู่โจมเซลล์ตัวใหม่ไป เรื่อยๆ 

แบคทีเรีย : สามารถอยู่นอกร่างกายได้ถ้ามีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม แต่เมื่อเข้าไปในร่างกายสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดโรคจากการที่ตัวมันปล่อยสารพิษออกมาหรือการที่ร่างกายตอบโต้แบคทีเรียก็จะทำให้ เกิดอาการบวมอักเสบ เป็นไข้ ตัวร้อน แต่แบคทีเรียบางชนิดเองก็จู่โจมถึงระดับเซลล์แย่งอาหารและทำให้เซลล์ตายในที่สุดได้ด้วย 

3.โรคที่เกิด 

ไวรัส :โรคที่รู้จักกันดี เช่น ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, พิษสุนัขบ้า,โรคหัด, อีสุกอีใส, โรคตับอักเสบเอบีซี, โรคงูสวัด, เริม, คางทูม, โรคสมองอักเสบ, โรคเอดส์, โรคโควิด-19 

แบคทีเรีย : โรคที่รู้จักกันดี เช่น วัณโรค, ฉี่หนู, ไข้รากสาดน้อย, บาดทะยัก, โรคซิฟิลิส, โรคคอตีบ, ปอดบวม, กาฬโรค, โลหิตเป็นพิษ, ถุงน้ำดีอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ไทฟอยด์, ไส้ติ่งอักเสบ และ ไอกรน  

4.การรักษา 

ไวรัส : ยังไม่มีการยารักษาโรคจริงจัง มีเพียงยาต้านไวรัสบางประเภท เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ซีหรือเฮอร์ปีไวรัส รวมถึงไวรัส HIV แต่ก็ยังไม่แพร่หลายและยังมีผลข้างเคียง ส่วนมากจึงเป็นการให้ยารักษาตามอาการเท่านั้นโดยต้องรอให้ร่างกายเรียนรู้ที่จะกำจัดไวรัสได้เอง 

แบคทีเรีย : มีการรักษาได้หลายรูปแบบทั้งการให้ยาปฏิชีวนะ, การผ่าตัด, การให้เซรุ่ม, วัคซีน หรือรักษาตามอาการ 

ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจะมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามโรคที่อาจทำให้สูญเสียชีวิตได้เช่นกัน จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงจะได้มีภูมิคุ้มกันไว้ต้านเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย