วิธีแก้อาการสะอึก มีวิธีไหนแก้ไขได้บ้าง

อาการสะอึกเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งหากเป็นแล้วก็อาจจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิดได้ ดังนั้นมาหาวิธีแก้อาการสะอึกได้จากบทความนี้ โดยจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี

สาเหตุของอาการสะอึก

  • กระเพาะอาหารมีการขยายตัวที่มากเกินไป
  • กล้ามเนื้อกะบังลมหดเกร็งหรือเกิดการกระตุก
  • ความเครียด ตื่นเต้น ตกใจกลัว
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

วิธีแก้อาการสะอึก สามารถทำได้ดังนี้

  • กลั้นหายใจ สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสะอึกคือกะบังลมมีการหดตัวอย่างกะทันหัน ส่งผลทำให้ระบบการหายใจผิดปกติ โดยการกลั้นหายใจจะทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้กะบังลมเกิดการคลายตัว ส่งผลให้การสะอึกลดลงได้ โดยควรกลั้นหายใจไว้เพียง 10 วินาที จากนั้นจึงหายใจออก และหายใจเข้าลึกๆ หากยังไม่หายสะอึกก็สามารถที่จะทำซ้ำได้
  • ดื่มน้ำ การดื่มน้ำก็สามารถแก้อาการสะอึกได้ โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การดื่มน้ำเร็วๆ หลายๆอึก การดื่มน้ำเย็นจัดช้าๆ จนกว่าอาการสะอึกจะหายไป เป็นต้น
  • กลืนน้ำลายแก้สะอึก หากเกิดการสะอึกแล้วไม่มีน้ำดื่ม ก็สามารถที่จะกลืนน้ำลายเข้าไปแทนได้ โดยให้ทำการกลั้นหายใจไว้ก่อน จากนั้นกลืนน้ำลายเข้าไป 4-5 ครั้ง แล้วหายใจออกทันที
  • ทำให้ไอ จาม หรือเรอ ด้วยวิธีเหล่านี้จะไปรบกวนกะบังลม ทำให้กะบังลมที่มีการหดตัว ได้คลายตัวออก จึงทำให้อาการสะอึกนั้นหายได้ ลองหาสิ่งที่มากระตุ้นการจาม การไอ โดยอาจหาอะไรมาเขี่ยจมูกเบาๆก็ได้ หรืออาจจะดื่มโซดาเพื่อทำให้เรอ แต่ก็ต้องระวังไม่ควรทำให้ไอมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้คอมีอาการอักเสบได้
  • กินของเปรี้ยวจัด ลองบีบน้ำมะนาวประมาณ 1 ช้อนชา แล้วนำน้ำมะนาวมาจิบแก้สะอึก หรืออาจจะจิบน้ำแอปเปิลไซเดอร์สัก 1 ช้อนชาก็ได้ การกินของเปรี้ยวจัดจะจู่โจมปุ่มรับรส และเบี่ยงเบนระบบประสาท จึงสามารถที่จะแก้อาการสะอึกได้
  • ให้หายใจในถุงกระดาษ หากหายใจในถุงกระดาษ จะส่งผลทำให้หายใจได้ตื้น จะรู้สึกว่าหายใจแบบเกร็งๆ ทำให้อาการสะอึกหายได้ ให้หาถุงกระดาษมาครอบจมูกและปากไว้ จากนั้นให้ค่อยๆหายใจเข้า หายใจออก ทำไปเรื่อยๆ จนทนไม่ไหว
  • แลบลิ้นยาวๆ สำหรับการแลบลิ้นออกมายาวๆ จะเป็นการกระตุ้นช่องว่างระหว่างเส้นเสียง ทำให้หายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถที่จะแก้อาการสะอึกได้
  • อมน้ำแล้วกลืน ให้อมน้ำเอาไว้ในปาก แล้วให้คางชิดที่หน้าอก จากนั้นให้พยายามกลืนน้ำที่ได้อมไว้ ก็จะช่วยให้หายสะอึกได้
  • ทำให้ตื่นเต้นหรือตกใจ ทำให้เกิดอาการตื่นเต้นหรือตกใจแบบกะทันหัน หรือการทำให้โกรธแบบฉับพลัน จะเป็นการเบี่ยงเบนทางอารมณ์แบบทันที จึงช่วยหยุดอาการสะอึกได้

หากใช้วิธีแก้อาการสะอึกที่ได้แนะนำไปแล้วอาการสะอึกไม่หายไป และมีอาการสะอึกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป